088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
ทรูปลูกปัญญา

True
นิตยสาร True ปลูกปัญญา ฉบับที่ 39 เดือน มกราคม 2014

จากวิทยานิพนธ์ สู่จันทบูรโมเดล

กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมยังคงเติบโตทั่วประเทศ แม้การท่องเที่ยวจะช่วยให้เมืองเก่ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่บทเรียนจากหลายพื้นที่ซึ่งเร่งรีบ และขาดการวางแผนในระยะยาว ทำให้ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ “จันทบูรโมเดล” จากวิทยานิพนธ์เชิงปฏิบัติจริงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมริมแม่น้ำจันทบูร จ.จันทบุรี เป็นตัวอย่างโมเดลต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน

ฟื้นฟูชุมชนร้อยปีแห่งตะวันออก

“จันทบูรโมเดล” เกิดจากการเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม โดยเริ่มจาก จิตสำนึกในการอนุรักษ์และความเป็นเจ้าของของคนในชุมชนเอง ด้วยความที่ชุมชนริมน้ำจันทบูรซึ่งมีอายุกว่า 120 ปี เคยเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกโดยมีแม่น้ำจันทบูรเป็นเส้นทางขนส่งหลัก และเนื่องจากการ ตั้งถิ่นฐานประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ทำให้สถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากทั้งตะวันตก และจีน แต่ก็ยังคง เอกลักษณ์ความเป็นไทยในด้านวัสดุและการใช้งานอาคาร

รัตนิน สุพฤฒิพานิชย์ และ แพรวพร สุขัษเฐียร นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันอาศรมศิลป์ เลือกพื้นที่ชุมชนริมน้ำจันทบูรในการทำโครงงานวิทยานิพนธ์เชิงปฏิบัติการจริงในพื้นที่ ก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้น ของการร่วมดำเนินการอนุรักษ์ และฟื้นฟูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจนเกิดเป็นวิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมนำการค้า”

“วัฒนธรรมนำการค้า” ของจันทบูรโมเดล

จากวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ทีมสตูดิโออนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชน จากสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งประกอบด้วย อ.ธิป-ธิป ศรีสกุลชัยรัก โท-ภาณุมาศ ชเยนทร์ ภา-ประภาพร บำรุงไทย ต่าย-ธีวรา พิทักษ์พัฒนกุล นาง-กุสุมา บุญกาญจน์ และเหมี่ยว-ปิลันธน์ ไทยสรวง จึงก่อตั้งบริษัทขึ้นในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างตัวอย่างของการอนุรักษ์พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “เราได้ก่อตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด จากความร่วมมือของสถาบันอาศรมศิลป์ และชุมชนในนามของชมรมพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูร เพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และเป็นแนวทางของการอนุรักษ์ที่สามารถยกระดับ และรองรับวิถีชีวิตของผู้คนได้จริง” “อ.ธิป” เปิดเผย

เจ้าของอาคารสองหลังร่วมทุนด้วยการมอบบ้านให้ใช้ประโยชน์เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยคิดค่าเช่าเพียง เดือนละหนึ่งบาท บริษัทฯจึงเริ่มระดมทุนจากคนในชุมชน ชาวจันทบุรี และผู้ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อปรับปรุงบ้าน ขุนอนุสรณ์สมบัติ และบ้านหลวงราชไมตรีให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน และที่พักในรูปแบบบ้านพักพิพิธภัณฑ์ (Museum Inn) นอกจากนี้ “นาง” และ “เหมี่ยว” เล่าว่ายังมีโครงการคู่ขนานที่เกิดขึ้นพร้อมกันนี้ “เราทำโครงการจัดทำผังแม่บทอนุรักษ์ และฟื้นฟูชุมชนริมน้ำจันทบูรด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และโครงการ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยกระบวนการศึกษาประวิติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำจันทบูร เพื่อให้ชุมชนได้วางแผน และมีข้อตกลงในการอยู่อาศัยร่วมกัน เป็นการยกระดับทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจ ที่เติบโตมาจากรากฐานประวิติศาสตร์ของตนเอง

“รัก” อย่างเดียวไม่พอ


คำโปรยในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมทุนในการอนุรักษ์และต่อยอดบอกไว้ว่า “รัก” อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องช่วยกัน “รักษา” ขณะนี้จันทบูรโมเดลเป็นระยะที่สองของโครงการ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดย “ภา” เล่าถึงความก้าวหน้าของโครงการว่า “เราคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ภายในกุมภาพันธ์ 2557 จากนั้นจะเริ่มบูรณะ อาคาร และเปิดดำเนินการได้ประมาณปลายปี 2557 ถือได้ว่าโครงการนี้เพิ่งเริ่มตั้งไข่ ต้องผ่านการทำงานอีกหลาย ขั้นตอนเพื่อทำให้เป็นจริงได้” “ทีมงานหวังว่าโครงการนี้นอกจากจะเป็นรูปแบบของการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมในทุกมิติแล้ว ยังมีส่วนช่วย ให้คนในท้องถิ่นร่วมกันสร้างตัวอย่างการอนุรักษ์ และนำไปต่อยอดทั้งในระดับบ้าน และชุมชนของตนเองต่อไป ขณะ เดียวกันโครงการนี้น่าจะช่วยให้เกิดการสืบสานคุณค่าท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น เพราะสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ มีรายได้โดย ไม่ต้องละทิ้ง ถิ่นฐาน ซึ่งเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและรักษาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ โดยสามารถอยู่ร่วม กับกระแสสมัยใหม่ และการท่องเที่ยวได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วยค่ะ” “ต่าย” เสริมปิดท้าย

 

Comments are closed.