088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
3 บ้านสุดคลาสสิกในตำนานแห่งวิถีจันท์

ด้วยความที่เมืองจันทบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทั้งไทย จีน ญวน ผู้คนเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่อาศัยจนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่นในฐานะบุคคลสำคัญของเมืองจันทบุรีที่สร้างคุณงามต่อตนเองและผู้อื่น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะเสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยความทรงจำและประวัติศาสตร์ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านบ้านสุดคลาสสิกทั้งสามหลังเหล่านี้

ขุนอนุสรสมบัติ

ขุนอนุสรสมบัติ

บ้านหลังแรกคือ “บ้านขุนอนุสรสมบัติ” หรือ บ้านแห่งการเรียนรู้ เลขที่ 69 เป็นของขุนอนุสรสมบัติซึ่งมาจากเมืองแต้จิ๋ว ประเทศจีนเมื่อตอนที่ท่านอายุ 16 ปี เพื่อมาทำงาน หัดพูดและเรียนหนังสือไทยกับผู้รู้จนสามารถอ่านออกเขียนได้ ต่อมาได้เข้ารับราชการที่แผนกคลัง มณฑลจันทบุรี เป็นผู้ช่วยคลังมณฑลแผนกฝิ่น รับราชการจนได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์ตรีขุนอนุสรสมบัติ และได้รับพระราชทานนามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ปฏิรูปานุสร

ที่นี่ถือเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบุรีที่แรก โดยน้องสาวคนสุดท้องของท่านขุนอนุสรสมบัติได้มอบบ้านหลังนี้เป็นมรดกต่อสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเพื่อเด็กและเยาวชนของชาติเพื่อให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ลักษณะโครงสร้างของบ้านสไตล์โคโรเนียลแห่งนี้มีการผสมผสานกันระหว่างโครงสร้างปูนและโครงสร้างไม้ โดยที่ผนังรอบนอกทั้งสี่ด้านเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งได้รับการซ่อมแซมเป็นระยะจึงมีการเปลี่ยนวัสดุตามสมัย แต่ยังคงความงดงามของไม้โบราณกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งตรงส่วนบันได พื้นไม้ชั้นสอง และห้องบนชั้นสอง เมื่อพ้นกรอบประตูขึ้นไปจะเป็นระแนงไม้ตีเป็นตารางเพื่อระบายอากาศจนถึงฝ้าเพดาน ส่วนฝ้าเพดานนั้นจะเป็นฝ้าเพดานไม้ตียาวตลอดจากในบ้านถึงด้านนอกระเบียงที่อยู่ด้านหน้าของชั้นบน โครงสร้างหลังคาของบ้านจะเป็นโครงไม้วางแปและกระเบื้องเหมือนบ้านจีน

พื้นที่ภายในบ้านได้จัดนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องวิถีชีวิตชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน  รวมถึงข้อมูลสถาปัตยกรรมชุมชน เป็นการนำเสนอผ่านภาพถ่ายกับภาพวาดเก่าแก่ อีกทั้งยังมีการนำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดแสดง โดยภาพและของต่างๆ นั้นมาการเก็บสะสมของท่านเจ้าของบ้านและชาวชุมชนที่มอบบริจาคให้กับบ้านเรียนรู้แห่งนี้

บ้านหลังที่สอง “บ้านหลวงราชไมตรี” เรือนไม้ 4 ห้องแถวที่ทำจากไม้สักทั้งหลังของ “ท่านหลวงราชไมตรี” ผู้ซึ่งนำต้นยางพารามาปลูกเป็นคนแรกของภาคตะวันออกจนได้รับสมญานามว่าเป็น “บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก”

img_0953-medium

ที่นี่เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียลโดยภายในได้ถูกออกแบบอย่างสวยงามและทันสมัย สะท้อนความเป็นชุมชนคนริมน้ำ ซึ่งในปัจจุบัน ด้วยการออกแบบของสถาปนิกนักอนุรักษ์ชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ที่ได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เรื่องราวในอดีต ประสานสร้างความเข้าใจกับเจ้าของบ้านจนพร้อมใจที่จะบริจาคบ้านหลังนี้ให้กับชาวชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนในการปรับปรุงฟื้นชีวิตบ้านให้เป็นที่พักเชิงประวัติศาสตร์และเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน โดยบริเวณพื้นที่โถงกลางแถวหน้า 2 ห้องแถวจะเป็นจุดรับแขก จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ นำสิ่งของสะสมของท่านหลวงราชไมตรีมาจัดแสดง เช่น ถ้วย ชาม แก้วโบราณ อุปกรณ์เครื่องใช้ที่เกี่ยวกับอาชีพชาวสวนยางพารา หนังสือ และจดหมายเหตุในยุคสมัยของท่าน เป็นต้น ส่วนด้านหลังเป็นระเบียบชานยื่นเข้าหาแม่น้ำจันทบุรี ส่วนพื้นที่ด้านบนชั้นสองได้ออกแบบให้เป็นห้องพักจำนวน 12 ห้อง บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้ได้เรียนรู้ เช่น ห้องบ้านราชไมตรี ห้องนายพ่อ นายแม่ ห้องลูกยาง ห้องของป่าสมุนไพร และห้องวิถีจันท์

หลวงประกอบ

หลวงประกอบ

บ้านหลังที่สาม “บ้านหลวงประกอบนิติสาร” โดยเมื่อครั้งอดีต หลวงประกอบนิติสารได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2476 หลวงประกอบนิติสารถูกฟ้องว่าเป็นขบถร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดช ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รู้จักคุ้นเคยกับพระองค์ท่านเลย ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขังหลวงประกอบฯ ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องหาที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายตามแต่จะทำได้ หลวงประกอบถูกคุมขัง 133 วัน ศาลพิเศษก็ตัดสินยกฟ้องปล่อยตัวพ้นข้อหาไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 เมื่อพ้นโทษหลวงประกอบฯ เกิดความคิดที่อยากจะช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ออกจากคุก จึงได้ออกมาตั้ง “สำนักงานประกอบนิติสารทนายความ” ต่อมาเมื่อท่านอายุ 46 ปีได้ตัดสินใจเริ่มหน้าที่ทางการเมืองในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและทำหน้าที่เรื่อยมาจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.2513

บ้านอายุมากกว่า 100 ปีหลังนี้มีความวิจิตรสวยงามมาก โดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือตอนหน้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบตึกจีนอยู่ติดถนนสุขาภิบาล ตอนหลังเป็นเรือนไทยติดแม่น้ำ ศิลปกรรมแบบผสมผสานทั้งจีน ไทยใหญ่ ฝรั่งเศส และไทยดั้งเดิม ภายในบ้านมีงานศิลปะประกอบสถาปัตยกรรมที่งดงามอยู่มาก เช่น ลูกกรงเหล็กหล่อ ชายคาสังกะสี และช่องลมไม้สลักลาย  ซึ่งขณะนี้กำลังจะอยู่ระหว่างการเจรจาหารือเรื่องการปรับปรุงให้เป็นบ้านพักประวัติศาสตร์แก่นักท่องเที่ยวคล้ายกับบ้านหลวงราชไมตรี

บ้านทั้งสามหลังนี้ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อชาวจันทบุรีเท่านั้น หากแต่ยังถือเป็นเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ห้ามพลาดเด็ดขาดเมื่อมีโอกาสมาเยือน

 

แสดงความคิดเห็น