088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
ตอนที่ 2 “บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี” ดีต่อใจของชุมชนและสังคม

จากตอนที่ 1 เราพูดถึงเรื่องการบูรณะ “บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี” แต่ก่อนที่จะเริ่มทำการบูรณะได้นั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ การระดมทุน ซึ่งชมรมพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูรร่วมกับบริษัท ร่วมทุนรักษ์ดี จำกัด โดยสถาบันอาศรมศิลป์ ก่อตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ขึ้น เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างของการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมและเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะชุมชนเรียนรู้พึ่งพาตนเอง ด้วยแนวคิดธุรกิจสังคมเพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและการฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์

โครงการนี้เริ่มจากการเปิดระดมทุนจากชาวชุมชน ชาวจันทบุรีและบุคคลทั่วไปที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อปรับปรุงบ้านหลวงราชไมตรีและบ้านขุนอนุสรณ์สมบัติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนและที่พักรูปแบบบ้านพักประวัติศาสตร์ ด้วยงบประมาณ 8.8 ล้านบาท ซึ่งรายได้บางส่วนจากการดำเนินกิจการจะถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนในระยะยาว โดยเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการไม่ใช่การดำเนินงานเพื่อผลสำเร็จเชิงธุรกิจ หากแต่เป็นเครื่องมือให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อการรักษาวิถีชีวิตชุมชน ส่งเสริมความเป็นเจ้าพื้นที่ของคนในท้องถิ่น และเป็นแบบอย่างของคนในชุมชนให้เกิดการรักษาและปรับปรุงบ้านของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้

เพราะความรักในบ้านเกิดของคนในชุมชนจันทบูรและผู้ที่มีเจตนารมณ์เดียวกันนี้เองที่ทำให้ทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี อีกทั้งยังส่งผลให้โครงการนี้ได้รับความสำเร็จและความชื่นชมจากสังคมวงกว้าง เห็นได้จากรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2554 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และล่าสุดกับรางวัล Merit Award, UNESCO Asia-Pacific Heritage Award 2015 ซึ่งดร.ทิม เคอร์ติส ประธานคณะกรรมการตัดสินและหัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย กล่าวชมถึง “จันทบูรโมเดล” ว่าเป็นนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์แหล่งมรดกเมืองและเป็นต้นแบบการอนุรักษ์มรดกโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางที่ประสบความสำเร็จที่น่าชื่นชมของประเทศไทยอีกด้วย

โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการนำร่องให้กับชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทยที่อยากสร้างความแข็งแรงและมั่นคงให้เกิดกับชุมชนอย่างยั่งยืน แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากจิตสำนึกรักบ้านเกิดของชุมชนก่อน หากคนในชุมชนเข้มแข็งและสามัคคีเช่นเดียวกับชุมชนจันทบูรล่ะก็ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในชุมชนอื่นเช่นกัน

Comments are closed.