088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
ท่าน้ำตำนานจันท์

เสน่ห์ของชุมชนริมน้ำจันทบูรอยู่ตรงวิถีชีวิตอันเงียบสงบและความคลาสสิคของบ้านเรือนทั้งสองฝั่งแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งถึงแม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไป แต่ที่นี่ก็ยังคงมีกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ให้ได้พบเห็นจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของบ้านเรือนริมน้ำเหล่านี้ หากใครได้มาเยือนชุมชนริมน้ำแห่งนี้ก็จะรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในอดีต

ชุมชุนริมน้ำจันทบูรเป็นชุมชนที่มีการตั้งบ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำจันทบุรี โดยลักษณะการตั้งบ้านเรือนขนานไปกับลำน้ำ มีทางเดินเป็นเส้นแบ่งอาคารบ้านเรือนออกเป็นสองฝั่ง คือบ้านฝั่งริมน้ำและบ้านฝั่งบก บ้านเรือนที่ติดริมน้ำจะมีลักษณะพิเศษตรงที่เหมือนมีหน้าบ้านสองฝั่งคือหน้าบ้านติดถนนและติดลำคลอง ซึ่งส่วนใหญ่หน้าบ้านที่ติดถนนมักทำเป็นร้านค้า ส่วนด้านหลังจะเอาไว้ขนถ่ายสินค้า

ด้วยความที่ชุมชนนี้ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำ ทำให้ครั้งที่มีการขยายตัวทางการค้าแนวชุมชมติดริมน้ำนั้นส่งผลให้ที่นี่เป็นที่ตั้งของท่าจอดเรือสินค้าหลายแห่งและมีการติดต่อไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนและขายสินค้า กลายเป็นย่านตลาดคึกคักที่มีการติดต่อค้าขายทั้งซื้อขายภายในและนอกชุมชนของจังหวัดจันทบุรี อีกทั้งเมื่อก่อนการอยู่อาศัยสองฝั่งแม่น้ำนั้นต้องติดต่อกันด้วยเรือ โดยใช้เรือพายและแจวข้ามแม่น้ำในการไปมาหาสู่กัน เนื่องจากยังไม่มีสะพานไว้ข้ามแม่น้ำอย่างทุกวันนี้ ทำให้ในปัจจุบันที่นี่จึงยังมีท่าน้ำต่างๆ ในชุมชนตั้งแต่หัวถนนต่อเนื่องจนถึงสุดถนน ซึ่งบางบ้านที่อยู่ติดริมน้ำก็ยังใช้หลังบ้านตัวเองเป็นที่อาบน้ำ ล้างจาน และซักผ้าอีกด้วย

ท่าน้ำในชุมชนจันทบูรมีทั้งแบบท่าน้ำสาธารณะและท่าน้ำส่วนตัว แต่ท่าน้ำที่สำคัญนั้นมีทั้งหมด 8 ท่าด้วยกัน โดยลักษณะของท่าน้ำเหมาะกับเรือขนาดไม่ใหญ่มาก อย่างเรือสำเภาขนาดเล็กและเรือใบซึ่งเป็นเรือที่คนในชุมชนนี้ใช้ในการเดินทางออกนอกจังหวัดก่อนที่จะเป็นยุคของเรือกลไฟ

winword_2016-11-18_17-51-06

ท่าประชานิยมและสะพานเฉลิมจันท์

ท่าประชานิยม (ท่าใหญ่) ถือเป็นหนึ่งใน 8 ท่าน้ำที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านย่านถนนประชานิยมและบริเวณใกล้เคียง เพราะนอกจากจะใช้เป็นที่ซักเสื้อผ้าและอาบน้ำของชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่จอดเรือยนต์รับจ้างที่มาจากชุมชนต้นน้ำและขนส่งสินค้าจากหลายอำเภอ โดยเฉพาะอาหารทะเล จากอำเภอแหลมสิงห์ ตลอดจนสินค้าจากจังหวัดตราด และยังเป็นท่าที่ชาวพื้นเมืองจากอำเภอเขาคิชฌกูฏนำผลหมากผลไม้และของป่ามาขายให้กับแพของชาวจีนอีกด้วย นอกจากนี้ แต่เดิมที่ท่าน้ำนี้เคยมีสะพานไม้ตะเคียนทองสวยงามขนาดใหญ่ชื่อว่า “สะพานเฉลิมจันท์” เพื่อใช้ข้ามฟากแม่น้ำไปยังฝั่งจันทนิมิต แต่ถูกกระแสน้ำเชี่ยวซัดพังทลายลงตอนฤดูน้ำหลากปีพ.ศ. 2491 ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ชื่อและภาพเก่าแก่ที่คงเหลือไว้เท่านั้น ส่วนซากสะพานก็ยังคงจมดิ่งอยู่ในแม่น้ำ

ปัจจุบัน สถาปนิกชุมชน อาจารย์ธิป ศรีสกุลไชยรัก สถาปนิกเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ได้มีการศึกษาเพื่อการออกแบบและปรับปรุงท่าน้ำให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในชุมชน ซึ่งนอกจากท่าประชานิยมแล้ว ยังมีการปรับปรุง “ท่าหลวง” จุดจอดเรือขนสินค้าและเรือเมล์โดยสารที่ใช้งานได้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “ท่าหมอทอด” ท่ารองรับเรือลำเลียงสินค้าจากอ่าวไทยในอดีต ซึ่งเคยถูกกล่าวถึงในบันทึกพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสจันทบุรีใน พ.ศ. 2419 และ “ท่าวัดโรมัน” ท่าสำหรับข้ามฟากไปยังโบสถ์คริสต์ที่เชื่อมคนสองฝั่งชุมชนเข้าหากัน และยังมี ท่าตาโท ท่าศาลเจ้าที่  ท่าแม่ผ่องศรี ท่าป้าเป้า

ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้ท่าน้ำเหล่านี้อาจไม่มีการค้าขายที่คึกคักเมื่อในอดีต แต่ทุกท่าก็ยังมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของชาวจันทบูรอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย แถมยังถือเป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของชุมชนริมน้ำจันทบูรที่ควรค่าแก่การรักษาไว้อีกด้วย

แสดงความคิดเห็น