088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
ประวัติความเป็นมา

สายน้ำจะไหลย้อนกลับที่บ้านหลวงราชไมตรีแห่งน้ี

เมื่อบ้านเก่าอายุ ๑๕๐ ปี ของหลวงราชไมตรี ได้ถูกปรับปรุงฟื้นฟูกลับขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างร่วมสมัยให้เป็น บ้านพักประวัติศาสตร์สไตล์ Boutique Hotel เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์จากการเข้าพักผ่อน ภายในนาม “บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี Historic Inn” ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชุมชนริมน้ำจันทบูร บนถนนสายแรกของจังหวัดจันทบุรี ภายในสถานที่แห่งนี้ ได้มีการเก็บรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี ผู้สร้างคุณูปการให้กับชาวจันทบุรีไว้มากมาย และยังคงรักษาสถาปัตยกรรมโบราณ ผนวกกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านไว้อย่างครบถ้วน การเข้าพักใน Historic Inn แห่งนี้จะพาคุณเดินทางไปพบอดีตที่เดินทางกลับมารอคุณอยู่ ณ ปัจจุบัน

img_history_1_@2x

วัฒนธรรมนําการค้า

เป็นเวลากว่า ๔ ปี ที่ชุมชนได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี สถาบันอาศรมศิลป์ และหน่วยงานอื่นๆดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านริมน้ำจันทบูรจนเกิดเป็นวิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมนำการค้า” ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและฟื้นฟูชุมชนเป็นไปได้อย่างยั่งยืน โดยที่สามารถรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ได้ทั้งในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจให้ดำเนินไปในวิถีโลกปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องรองรับกระแสการท่องเที่ยวในเชิงการค้าเพียงอย่างเดียว

img_history_3_@2x
img_history_4_@2x

บ้านพักพิพิธภัณฑ์ที่ชาวชุมชนนับร้อยถือหุ้นร่วมกันเป็นเจ้าของ

สถาบันอาศรมศิลป์ ทีมสถาปนิกเพื่อชุมชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization) รู้ดีว่า งานอนุรักษ์ที่จะเก็บรักษาสิ่งดีๆ ท่ามกลางสายน้ำของทุนนิยมที่พัดพาผ่านเข้ามานั้น ลำพัง “ความรู้” คงไม่น่าพอที่จะดูแลสมบัติแห่งกาลเวลาชิ้นนี้….ต้องใช้ “ความรัก” ด้วยเพราะคนที่จะดูแลและอนุรักษ์ได้ดีที่สุดก็คือ “เจ้าของพื้นที่” ผู้รักสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด สถาบันอาศรมศิลป์จึงเริ่มเข้ามาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนริมน้ำจันทบูร ในครั้งนี้ โดยการก่อตั้ง บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ขึ้นเพื่อทำให้เป็น “จันทบูรโมเดล” โครงการตัวอย่างของการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมด้วยแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยร่วมมือกับชมรมพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูร เข้าออกแบบปรับปรุง ฟื้นฟู ตัวอาคารสถาปัตยกรรมเรือนไม้เก่าแก่จำนวน ๓ หลัง ที่ได้รับการอนุญาตบริจาคจากเจ้าของ ผู้เป็นทายาทรุ่น ๓ ของหลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) มอบเรือนไม้เก่าแก่ริมน้ำจันทบูรอายุร่วม ๑๕๐ ปี โดยดำเนินการจัดทำเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์ (Historic Inn) แล้วเปิดให้มีการระดมทุนจากชาวชุมชนในพื้นที่ และชาวจันทบุรี รวมถึงยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีหัวใจรักในพื้นที่แห่งนี้ มาร่วมกันถือหุ้นร่วมเป็นเจ้าของ และให้ช่วยกันดูแลกันเอง นอกจากสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในรูปแบบที่พอเหมาะลงตัวกับวิถีชุมชน ที่นี่ยังคงตั้งใจรักษาอดีตและวิถีชีวิตที่งดงามของชุมชนแห่งนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรีแห่งนี้ จึงไม่ใช่งานอนุรักษ์ ที่แค่รวบรวมแหล่งความรู้เอาไว้ แต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวบรวมความรัก..ของคนที่รักที่แห่งนี้ไว้ด้วยกัน เพราะถ้ามองดูให้ดีในการอนุรักษ์มีคำว่า ‘รัก’ ซ่อนอยู่ในนั้น

img_history_8_@2x

เจ้าของบ้านผู้ที่ได้เป็นหลวงฯ โดยที่ไม่ได้รับราชการ

หลวงราชไมตรี แต่เดิมนั้นมีนามว่า ปูม ปุณศรี เป็นบุตรคนที่สองของหลวงประมวญราชทรัพย์(จีนจำปา) จางวาง นายกองส่วนทองคำ โรงงานหวายพัศเดา กับนางเปี่ยม ปุณศรี เกิด ณ บ้านริมน้ำตลาดท่าเหนือ ริมถนนท่าหลวง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๑๙ มีพี่น้องร่วมกัน ๓ คน ได้แก่ นางสาวคร้าม นายป้อง และนางสาวห่อ ปุณศรี ในวัยเด็กท่านเริ่มศึกษาที่โรงเรียนวัด และไปศึกษาต่อที่ปีนังเมื่อครั้งติดตามบิดาไปค้าขายยังประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อเติบใหญ่ได้ดำเนินธุรกิจการค้าสืบต่อแนวทางของบิดาจนเจริญก้าวหน้ามีชื่อเสียงโด่งดัง และแม้เป็นเพียงชาวบ้านทำงานค้าขายไม่เคยรับราชการ แต่ความขยันหมั่นเพียร คุณงามความดีที่ท่านทำประโยชน์ไว้ให้กับแผ่นดินมากมาย ทำให้ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “หลวงราชไมตรี” ซึ่งจะเล่าให้ทุกท่านได้ฟังต่อไปหลังจากนี้

img_history_7_@2x

สถานที่ “หล่อ” เลี้ยงทุกชีวิต

จากปากคนเก่าคนแก่ที่รู้จักท่านเป็นอย่างดี จะเล่าให้ฟังว่า หลวงราชไมตรีเป็นคนรูปหล่อ ผิวขาวเหลือง สูงประมาณ ๑๗๓–๑๗๕ เซนติเมตร เดินฝีเท้าเบา หลังตรง มีบุคลิกสง่างามมาก วาจาสุภาพไม่พูดเสียงดังไม่ถือตัวแต่เจ้าระเบียบ ท่านไม่เพียงแต่มีบุคลิกที่จัดว่าเป็นคนรูปหล่อ…สง่างามตามที่คนอื่นพูดถึงอุปนิสัยใจคอของท่านนั้นก็ไม่ได้ ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นของท่านก็คือ ท่านมีความเมตตาสูงซึ่งเห็นได้จากการชอบส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กๆ ในบ้านที่รักการเรียน ทั้งเรื่องที่พักอาศัย ค่าเล่าเรียนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา มีการงานและตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต ซึ่งท่านได้อุปการะการศึกษาทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอย่างเท่าเทียมกันเสมอ นอกจากนี้ท่านยังได้รับการเรียกจากทุกคนในบ้านว่า “นายพ่อ” ซึ่งหมายถึงทุกคนในบ้านยอบรับว่า เป็นทั้ง “นาย” และเป็นทั้ง “พ่อ” ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้บ้านพักประวัติศาสตร์แห่งนี้มีห้องพักที่ตั้งชื่อว่า “ห้องนักเรียนชาย” และ “ห้องนักเรียนหญิง” ก็เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสถานที่แห่งนี้“หล่อ” เลี้ยงทุกชีวิต ได้เป็นอย่างดีจริงๆ

เศรษฐีผู้นั่งเก้าอี้หัก

หลวงราชไมตรีเป็นคนที่ไม่เล่นการพนันแถมรู้จักใช้เงิน จะใช้แต่ที่จำเป็นไม่ฟุ่มเฟือยแต่ไม่ถึงกับตระหนี่ด้วยชอบทำบุญเป็นนิจ ขนาดที่เคยมีเกร็ดขำๆ เล่าสู่กันฟังว่า “ชาวกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งไปเที่ยวจันทบุรีเดินผ่านหน้าบ้านท่าน เห็นชายชรานั่งเก้าอี้ขาหักทำงานด้านธุรกิจยางพาราบนโต๊ะข้างประตูบ้านบริเวณห้องโถงก็นำไปเล่าสู่กันฟังที่กรุงเทพฯ จนผู้คนที่รู้จักท่านต้องเอ่ยปากบอกว่า ชายชราผู้นี้เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยมากชื่อหลวงราชไมตรี ทำเอาผู้เก็บไปเล่าตกตะลึงไม่เชื่อหูเลยทีเดียว” ตัวอย่างความประหยัดของท่านอีกอย่างหนึ่งคือ ยามใดที่ท่านรับประทานปลาเค็ม ท่านจะสั่งให้แม่ครัวนำก้างปลาเค็มไปโขลกให้ละเอียดแล้วเก็บไว้ผัดกับผักคะน้าในมื้อต่อไป เวลาล้างจานท่านให้ใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน เพราะคนในบ้านมีจำนวนมากและขี้เถ้าสามารถล้างคราบมันได้ดี ไม่ต้องเปลืองเงินซื้อหา

img_history_9_@2x
img_history_10_@2x

เมนูหลวงราชฯ

หลวงราชไมตรีเป็นคนทานอาหารง่าย จะมีที่ไม่ชอบก็แค่ไม่ชอบทานก๋วยเตี๋ยว โดยปกติชอบรับประทานข้าวสวยกับปูแสมต้มเค็มผัดผักรวมโดยเฉพาะผักกาดขาว ส่วนกับข้าวอื่นก็เป็นกับข้าวพื้นๆ มีกุ้งแห้งป่นเป็นประจำ หากมีข้าวเหลือในหม้อ ท่านจะสั่งให้เก็บไว้ทำข้าวผัดใส่ซอสมะเขือเทศเป็นอาหารในมื้อต่อไปส่วนผลไม้ท่านก็รับประทานได้ทุกชนิดยกเว้นผลไม้ที่มีรสหวานจัดเท่านั้น แต่ที่โปรดที่สุดคือแตงโม และเป็นสิ่งเดียวที่จะดูฟุ่มเฟือยสักหน่อยดังที่บริวารในบ้านเล่าว่า “พวกแม่ครัวชอบแอบดูท่านตักแตงโม เพราะท่านเลือกตักเฉพาะเนื้อส่วนกลางผลเท่านั้นไม่สนใจส่วนอื่นเลย…” นอกจากอาหารก็ยังมีเครื่องดื่มที่ท่านรับประทานอยู่เป็นประจำคือฮอริก (Horic) มีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายนมใช้ชงน้ำร้อนดื่มเป็นอาหารเสริม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ดูแลใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นอย่างดี

บ้านพัก ๑๐๐ ปี

บ้านที่ท่านพักมี ๒ แห่ง คือ บ้านราชไมตรีและบ้านสวนราชไมตรี ทั้งสองบ้านปัจจุบันมีอายุกว่า ๑๐๐ ปีทั้งสิ้น บ้านราชไมตรีเป็นบ้านในเมืองอยู่บริเวณที่รู้จักกันในชื่อว่า “ท่าหลวง” อันเป็นย่านการค้าสำคัญริมแม่น้ำจันทบุรีที่รุ่งเรือง มีท่าเรือขนถ่ายสินค้าในยุค ๘๐ – ๑๐๐ ปีที่แล้ว และเป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดของจันทบุรีในปัจจุบัน บ้านราชไมตรีมี ๒ หลัง คือ เรือนไม้สักทองริมแม่น้ำจันท์และเรือนตึก ซึ่งเป็นอาคารปูนปั้นอยู่ฝั่งตรงข้าม มีถนนสุขาภิบาลคั่นกลาง การข้ามไปมาระหว่างบ้านสองหลังนี้สร้างความอึดอัดและรำคาญให้ท่านเป็นอันมาก เนื่องจากต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดสุภาพสวมหมวกทุกครั้งที่ออกจากบ้านหลังหนึ่งไปยังอีกหลังหนึ่ง ในช่วงที่ยุคสมัยจอมพลแปลกพิบูลสงครามออกกฎหมายบังคับให้สวมหมวกแต่งกายสุภาพเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ปัจจุบันบ้านในเมืองห้องหนึ่งเป็นที่พักอาศัยของป้าผันสุดสงวน น้องสาวภรรยาท่านคนหนึ่ง ห้องอื่นๆ แบ่งให้ผู้อื่นเช่า สำหรับบ้านสวนราชไมตรี อยู่บริเวณโรงงานแปรรูปยางพาราแห่งแรกของบริษัท ปัจจุบันเป็นที่พักของนายประพันธ์ ปุณศรี ผู้บุตร และนายประยุทธ ปุณศรี ผู้หลาน

รถคันแรก / ฮาเลห์เมืองจันท์ / ป้ายทะเบียน จบ.

รถยนต์ฟอร์ดสีดำ เป็นรถยนต์คันแรกที่มีใช้ในจันทบุรี นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา หลวงราชไมตรีจะนำออกใช้เฉพาะการเดินทางในตัวเมืองจันทบุรีเท่านั้น แม้เวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ท่านก็ไม่เคยใช้รถยนต์คันนี้ แต่ใช้บริการรถเมล์บริษัทจันทบุรีพานิชของนายซองกุ่ย สีบุญเรือง เดินทางไปพร้อมเด็กในบ้านทุกครั้งการเดินทางไปสวนราชไมตรีซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเป็นระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตรสมัยนั้น หนทางลำบากมากต้องใช้เกวียนเทียมด้วยวัวคู่ชื่อเจ้าโพธิ์และเจ้าไทร มีนายมากอุตมะบ่าวคนสนิทผู้จงรักภักดีเป็นผู้ขับเกวียน กระทั่งหนทางสะดวกขึ้นจึงเปลี่ยนมาใช้รถจี๊ปกลางและรถจี๊ปเล็กแทน ต่อมาได้ซื้อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ฮาเล่ย์เดวิดสันให้นายปัน ปุณศรีบุตรชายขี่ นับเป็นรถจักรยานยนต์คันแรกของจันทบุรีติดป้ายทะเบียน จบ.๐๐๑

เรื่อง FUN FUN (ฟัน ฟัน) ของหลวงราชไมตรี

ผลเอ๊ย…มางมฟันปลอมให้ข้าหน่อย” ประโยคที่คนในบ้านได้ยินจนชินหูจากปากของคุณหลวงฯ หลังจากกิจวัตรประจำหลังอาหารของท่าน คือการแปรงฟัน สถานที่แปรงฟันประจำของท่านคือระเบียงริมน้ำหลังบ้านที่จะเจาะพื้นระเบียงเป็นช่องสี่เหลี่ยมไว้เพื่อก้มลงแปรงฟันโดยเฉพาะ แล้วช่องนี้แหละที่เป็นเหตุให้ฟันปลอมของท่านหล่นลงน้ำเป็นประจำ ทำให้ท่านเองก็ต้องใช้คนในบ้านไปตามนายผลคนดูแลโรงสีฝั่งตรงข้ามบ้านมาเป็นธุระช่วยงมฟันปลอมให้อยู่เสมอๆ และเมื่อนายผลพายเรือมาถึงใต้ถุนบ้าน ก็ไม่เคยทำให้ท่านหลวงผิดหวังเลยสักครั้ง

ลูกต้นยางจากการขี่ม้าตาเดียว

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ หลวงราชไมตรีเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต เกิดความคิดที่จะนำยางพาราไปปลูกในสวนของตนเองบริเวณเชิงเขาสระบาป ตำบลพลิ้ว อำเภอเมืองจันทบุรี ด้วยเห็นว่าสภาพพื้นที่และภูมิอากาศมีความคล้ายคลึงกับภาคใต้ ต้นยางคงจะเจริญเติบโตได้ดีสามารถให้ผลผลิตได้ไม่แพ้กัน จึงสั่งต้นพันธุ์ส่วนหนึ่งจากมลายูไปปลูกจำนวน ๒ ลังในเนื้อที่ ๖๐ ไร่ แต่ต้นยางชุดนั้นตายเกือบหมดด้วยสาเหตุใดไม่เป็นที่แน่ชัด คงเหลือเพียง ๓ ต้นเท่านั้น ต้นยางที่เหลือรอดนี้เติบโตจนอายุราว ๑๐ – ๑๕ ปี หลวงราชไมตรีจึงให้คนงานในสวนเก็บเมล็ดยางที่ร่วงหล่นโคนต้นใส่กระสอบไว้ขยายพันธุ์ให้เต็มพื้นที่ต่อไป สมัยเริ่มแรกแม้มีที่ดินเพียงร้อยกว่าไร่ แต่มีสภาพรกทึบเต็มไปด้วยลูกไม้นานาพันธุ์ หากใช้คนถางป่าและปลูกยางพาราต้องเสียเวลานาน ทั้งเสียค่าใช้จ่ายมาก ท่านจึงเลี่ยงมาใช้วิธียิงหนังสติ๊กด้วยกระสุนลูกยางให้กระจายไปทั่วทั้งสวน เพราะเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่าย มีเพียงคนงานคนเดียวที่คอยแบกกระสอบเดินตามม้า เรื่องนี้ นายมาก อุตมะ บริวารคนสนิทเล่าให้ฟังว่า “ต้นยางสมัยแรก ตนและคุณหลวงช่วยกันปลูก โดยคุณหลวงขี่ม้าตาบอดข้างหนึ่งคอยยิงลูกยางที่มีตนเป็นผู้คอยส่งให้ สวนยางสมัยนั้นจึงขึ้นไม่เป็นระเบียบเป็นแถวเป็นแนว แล้วแต่ว่าลูกยางตกลงตรงไหน ต้นยางก็ขึ้นตรงนั้น” จากความสำเร็จสวนยางพาราจึงขยายเนื้อที่ออกไปอีกรวม ๓ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ ด้วยความที่สวนยางพารามีพื้นที่กว้าง ท่านจึงต้องขี่ม้าตัวเดียวกันนั้นตรวจสวนและใช้เขาสัตว์เป่าหวูดบอกเวลาทำงานและเวลาพักให้คนงานทราบ เรื่องนี้อีกนั่นแหละเลื่องลือเล่ากันเป็นที่ขบขันของชาวจันท์ว่า “เป็นเศรษฐีแต่ขี่ม้าตาบอด”

ต้นยางต้นทาง

ยางชุดที่กล่าวถึงนั้นปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ ๙๐๐ ต้น และหนึ่งในจำนวนนั้นอาจเป็นต้นยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดเส้นรอบวงโคนต้นประมาณ ๗ เมตรหรือ ๔ คนโอบ และมีขนาดเส้นรอบวงประมาณ ๔ เมตรครึ่ง ที่ระดับความสูง ๑.๕ เมตรจากระดับพื้นดิน ด้วยเหตุผลตามคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า“หากผู้ใดคิดกรีดยางพาราต้นนี้ต้องมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับผู้นั้นเสมอ…” ยางพาราต้นนี้จึงไม่เคยผ่านการกรีดเลย และเป็นที่สักการะแก่ผู้อาศัยย่านใกล้เคียงตลอดมา ผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวช่วยให้เกิดการอนุรักษ์ต้นยางพารากลุ่มนี้ ให้คงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อไป สวนยางถูกปล่อยไว้เป็นป่ายางธรรมชาติ มีไผ่และพรรณไม้หลากหลายขึ้นแทรกปะปนแน่นทึบพอสมควร สถานที่แห่งนี้จึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างชัดเจน

ต้นยาง… หยั่งรากลึกลงในดินไปพร้อมความดีงาม… ที่หยั่งรากลึกในใจคน

ในช่วงชีวิตสุดท้ายของหลวงราชไมตรี ท่านได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เวลา ๑๐.๕๐ น. ด้วยโรคเบาหวาน รวมอายุ ๘๐ ปี ๔ เดือน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีที่ท่านหลวงราชไมตรีเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มนำยางพาราเข้ามาปลูกในจังหวัดจันทบุรี ก่อนจะแพร่ขยายจนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออก ชาวสวนยางพาราจันทบุรีจึงร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์หลวงราชไมตรีขึ้นไว้เป็นที่เคารพสักการะแก่บุคคลในวงการยางพารา ณ บริเวณทางขึ้นน้ำตกพลิ้วในพื้นที่ที่บุตรหลานของหลวงราชไมตรีมอบให้กับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรีเพื่อรำลึกถึงพระคุณและเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏตลอดไปในฐานะ “บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก” บ้านหลวงราชไมตรี Historic Inn แห่งนี้ จึงนับว่าเป็นอนุสรณ์ที่คอยเก็บเกี่ยวเรื่องราวของหลวงราชไมตรีให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับความดีงามที่ท่านกระทำไว้ แล้วมาร่วมซึมซับบรรยากาศของความเป็นอดีต สัมผัสกับชีวิตที่ช้าลง ณริมน้ำจันทบูร สายน้ำสายเดียวกันกับเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว แม้บางคนเคยบอกว่า สายน้ำไม่มีวันไหลย้อนกลับ แต่สำหรับบ้านหลวงราชไมตรีและชุมชนริมน้ำจันทบูรแห่งนี้กำลังบอกเราว่า ความร่วมมือของชาวชุมชนที่มาช่วยกันดูแลรักษามรดกอันทรงคุณค่าแห่งนี้ จะเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นว่าสายน้ำในอดีต…จะไหลย้อนกลับมาให้เราได้สัมผัสอีกครั้ง

 

“เหนือมณี…ศรีสยาม”

หนึ่งมณีแห่งสยามงามพิสุทธิ์

หนึ่งพลอยแดงแสงงามสุดดุจวิจิตร

หนึ่งบุษย์เดียวเขียวส่องพราวราวนิมิต

หนึ่งชีวิตเหนือมณีทวีคูณ

เอกบุรุษสร้างสรรค์จันทบุรี

เอกลักษณ์ราชไมตรีมิดับสูญ

เอกราชชาติศาสน์กษัตริย์ท่านเทิดทูน

เอกเกื้อกูลการเกษตรประเทศไทย

คือสุภาพบุรุษมีวินัยไฝ่เรียนรู้

คือนักธรรมนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่

คือต้นแบบพอเพียงเลี้ยงครัวไทย

คือผู้ให้ใจเมตตาพัฒนาคน

ครองตนด้วยคุณธรรมประจำจิต

ครองงานด้วยภารกิจจิตกุศล

ครองคนด้วยปันน้ำใจให้ผองชน

ครองใจด้วยคนยอมรับรักศรัทธา

ยางต้นแรกท่านปลูกไว้ในจันท์นี้

ยางยืนยงครบร้อยปีมีคุณค่า

ยางช่วยคนช่วยชาติวัฒนา

ยางพาราคือตำนานงานท่านพลี

เกียรติศักดิ์ปุณศรีวงศ์คงปรากฏ

เกียรติยศยางยั่งยืนทุกพื้นที่

เกียรติภูมิคู่แผ่นดินถิ่นจันทบุรี

เกียรติคุณ “หลวงราชไมตรี” มีพระคุณ

คุณสุริยุปราคาภูษาธร วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

decor_@2x