088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
กระบวนการดำเนินงาน

การอนุรักษ์ ที่มาพร้อมกับความรัก

บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี Historic Inn เกิดจากความร่วมมือกันของชาวชุมชนริมน้ำจันทบูร ทายาทของบ้านหลวงราชไมตรี และสถาบันอาศรมศิลป์ ก่อตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยเปิดให้ชาวบ้านทุกคน รวมไปถึงคนทั่วไปที่มีแนวความคิดเดียวกันนี้ มาร่วมกันถือหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่ออนุรักษ์ความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ไว้อย่างยั่งยืน

“เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่การดูแลแค่อาคาร แต่คือการดูแลชีวิต
ลำพังความคิดจึงยังไม่พอ มันต้องมีความรักอยู่ในนั้นด้วย”

ตามชมความเคลื่อนไหวตั้งแต่วันแรกของที่พักอันเป็นที่รักแห่งนี้ หรือ
ร่วมถือหุ้นเพื่อร่วมอนุรักษ์ด้วยการเป็นเจ้าของ

1

~ พ.ศ. 2555 ~

ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของบ้าน ๔ หลัง เพื่อนำมาเป็นตัวอย่าง ในการอนุรักษ์ พร้อมกับมีนักศึกษา ๑ คน ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อการจัดทำผังแม่บทอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างต่อเนื่องและให้เกิดผลขึ้นจริง อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นโครงการร่วมทุนรักษ์ดี

1

~ พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ~

ชุมชนต้องการให้มีจำนวนบ้านเรียนรู้เพิ่มขึ้น สถาบันฯ จึงนำเสนอแนวคิด ธุรกิจสังคมเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุมชน ในขณะเดียวกันชุมชนได้รับรางวัล “ชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์”

1

~ ธันวาคม พ.ศ. 2553 ~

The Rockefeller Foundation เห็นคุณค่าของงานที่ได้ดำเนินการมา จึงมอบทุนให้สถาบันอาศรมศิลป์ เพื่อปรับปรุงบ้านเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

1

~ กันยายน พ.ศ. 2553 ~

เจ้าของอาคารบ้านเลขที่ ๖๙ ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงมอบบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยสถาบันอาศรมศิลป์ร่วมออกแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจนเกิดเป็น บ้านเรียนรู้ชุมชน

1

~ เมษายน พ.ศ. 2553 ~

กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายสถานศึกษาท้องถิ่น วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี เพื่อการตระหนักรู้คุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ผ่านการเขียนแบบ Vernadoc

1

~ กันยายน พ.ศ. 2552 ~

เปิดตัวโครงการร่วมกับเครือข่ายกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ จังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในงานเปิดย่านการค้าจังหวัดจันทบุรี สีสันแห่งอัญมณี และวิถีแห่งวัฒนธรรม

1

~ สิงหาคม พ.ศ. 2552 ~

เริ่มต้นประชาสัมพันธ์ โดยการจัดประกวด ตราสัญลักษณ์และเว็บไซด์ จนชุมชนได้รับการเผยแพร่ทางรายการโทรทัศน์

1

~ พฤษภาคม – มิถุนายน พ.ศ. 2552 ~

ดำเนินกระบวนการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมด้วยการสำรวจข้อมูลชุมชน ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมกับทำกิจกรรมให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ คือการทำป้ายบ้าน และ การทำความสะอาดชุมชน Big Cleaning Day

1

~ เมษายน พ.ศ. 2552 ~

นักศึกษาดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องร่วมกับภาคีในพื้นที่ ได้แก่ โครงการนักโบราณคดีน้อยกับโรงเรียน และ โครงการแผนที่สิ่งดีร่วมกับโรงเรียนศรียานุสรณ์และการประกวดชื่อชุมชน เกิดเป็นชื่อ “ชุนชนริมน้ำจันทบูร” ที่สะท้อนอัตลักษณ์ และจัดกระบวนการสนทนา เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของชุมชน คือ “วัฒนธรรมนำการค้า”

1

~ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ~

เกิดคณะทำงานขึ้นภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการพัฒนาชุมชนริมน้ำ”

1

~ มกราคม พ.ศ. 2552 ~

นักศึกษาจัดกิจรรมโดยงบประมาณสนับสนุนจากพาณิชย์จังหวัด ด้วยการนำชุมชนไปดูงานที่ชุมชนตลาดสามชุก เพื่อเรียนรู้หาแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง

1

~ ธันวาคม พ.ศ. 2551 ~

นักศึกษาสถาบันอาศรมศิลป์ หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ๒ คน เริ่มลงพื้นที่ทำวิทยานิพนธ์ เพื่อร่วมกับชุมชนอนุรักษ์และพัฒนา โดยเริ่มเข้าไปเรียนรู้อยู่อาศัยในชุมชนเหมือนลูกหลาน

โรงแรมที่มีเจ้าของหุ้นกว่า ๕๐๐ ชีวิต

ลำพังสถาบันที่รักการออกแบบเพื่อชุมชนแค่ไหนก็ไม่สามารถดูแลได้ดีเท่าเจ้าของ การชวนชาวบ้าน และลูกๆ หลานๆ ที่ต่างมุ่งหน้าเข้าสู่เมือง ได้กลับเข้ามาช่วยกันดูแล “บ้าน” นั่นก็คงจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ด้วยเหตุผลนี้เองจึงนำมาสู่การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและฟื้นฟูชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนเก่าแก่อายุกว่า ๑๕๐ ปี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการ “อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม” จากความร่วมมือกันของชาวชุมชนริมน้ำจันทบูร ทายาทของบ้านหลวงราชไมตรี และสถาบันอาศรมศิลป์ ก่อตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อเข้าบูรณะบ้านหลวงราชไมตรีที่มีอายุกว่า ๑๕๐ ปีแห่งนี้ และดำเนินการให้เป็นโรงแรมและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ (Historic Inn)

เริ่มต้นจากสัญญาเช่าที่ร่างขึ้นจากคุณค่าไม่ใช่มูลค่า เมื่อเจ้าของบ้านผู้เป็นทายาทของหลวงราชไมตรีได้มอบบ้านหลังนี้ให้เข้าดำเนินการด้วยสัญญาเช่า ๓๐ ปี โดยคิดค่าเช่าเพียงเดือนละ ๑ บาทเท่านั้น แล้วเปิดให้คนในชุมชนทุกคนรวมไปถึงคนทั่วไปที่สนับสนุนแนวความคิดเดียวกันนี้ มาร่วมกันถือหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน ผ่านการเปิดขายหุ้นๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท โดยมีคนในชุมชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมหุ้นเป็นจำนวนกว่า ๕๐๐ คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๘.๘ ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่เพื่อให้คนในสังคมและประเทศเห็นว่า เราสามารถดูแลมรดกทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับการเดินไปข้างหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของโลกใบนี้ได้

จากผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (Feasibility study) พบว่า โครงการนี้สามารถคืนทุนได้ในภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ส่วนผลกำไรที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะปันผลคืนสู่ผู้ถือหุ้นแล้ว ผลกำไรส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูร ตามแนวทางการบริหารงานของ บริษัทจันทบูรรักษ์ดี จำกัด อีกด้วย

..มันเป็นความฝันที่ยืนอยู่บนความเป็นจริง..
ที่สร้างจากความรู้และความรักไปพร้อมๆ กัน

การเข้ามาพักของทุกคน ณ ที่แห่งนี้ คือ ส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์
ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ที่กำลังถูกกลืนหายไปกับการพัฒนา
ให้คงเสน่ห์ชาวบ้านที่นักท่องเที่ยวหลายคนกำลังตามหา
และเป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหว และดูแลอนุรักษ์ชุมชนเก่าที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย…

decor_@2x