088-843-4516, 081-915-8815
contact@baanluangrajamaitri.com
252 ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
กรุงเทพธุรกิจ

Bangkokbiz

จันทบูรโมเดล

เงินไม่ใช่คำตอบ(สุดท้าย) บทเรียนจากปายฟีเวอร์ สู่เชียงคานสุดฮิต ที่กลายเป็นกรณีคลาสสิกของการท่องเที่ยวถล่มเมือง เมื่อมาถึงคิว “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” ที่ปริ่มๆจะดัง ชาวบ้านไหวตัวทัน ตั้งการ์ดรับด้วยคาถา อย่าหน้าเงิน!

ในวันที่เม็ดเงินกว่า 7 แสนล้านบาทได้กลายเป็นเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานด้านการตลาดของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับมูลค่า “ไทยเที่ยวไทย” ในปี 2557 และกำลังจะกลายเป็นเฟืองหมุนสำคัญในวันที่นักเที่ยวกระเป๋าหนักจากซีกโลกตะวันตกลดการใช้จ่ายลงนั้น

กระแส “ไทยเที่ยวไทย” ก็ได้ไหลบ่าเข้ามาจนชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน และกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่โด่งดังเป็นพลุแตกจนเกิดปรากฏการณ์ “น้ำมันหมดปั๊ม” ทำเอานักท่องเที่ยวตกค้าง กลับบ้านไม่ได้ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2552 แถมด้วยพ่อค้ามหาโหดฟันลูกค้าหัวแบะ เพราะแม้กระทั่งก๊วยเตี๋ยวธรรมดาๆ ราคายังพุ่งไปอยู่ที่ชามละ 70 บาท จนบ่นโอดโอยเสียความรู้สึกไปตามๆกัน

จากนั้นกระแสของเชียงคาน จ.เลย ก็เริ่มผุดขึ้นมาแทนที่โดยมีความหนาวเย็นแสนชิลเป็นจุดขายไม่ต่างกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากริมน้ำปายไปไล่เลาะริมโขงแทนก็เท่านั้น

จากอาการ “ช็อค” กับกระแสการท่องเที่ยวที่บูมไม่คาดฝัน ในช่วงเวลาเดียวกันกับปายโดนถล่ม เมืองเล็กๆอย่างเชียงคานที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่าจะดัง ก็ต้องตกใจกับกองทัพนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาจนพ่อค้าแม่ขาย เสิร์ฟอาหารกันไม่ทัน บางรายของไม่พอขาย บางร้านเหนื่อยจัดถึงขนาดปิดร้านเสียดื้อๆ ด้วยเหตุผลว่าคนเยอะ ทำไม่ทัน ขายไม่ทัน เดี๋ยวลูกค้าจะไม่ประทับใจก็มี

ขณะเดียวกัน ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวก็ยังมุ่งเปิดบริสุทธิ์ชุมชนเล็กๆ ซึ่งยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย ที่รออยู่ในลิสท์ ต่างๆเหล่านี้จึงนำมาสู่คำถามสำคัญ ที่ว่าด้วยการมองหาความสมดุลระหว่างวิถีชุมชน กับการต้อนรับ เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว ว่าอย่างไรจึงจะ “พอดี”
จันทบูรโมเดล
จากโครงการวิทยานิพนธ์ของรัตนิน สุพฤฒิพาณิชย์ และ แพรวพร สุขัษเฐียร สองนักศึกษาหลักสูตร สถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากสถาบันอาศรมศิลป์ ที่ลงพื้นที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ ร่วมกัน ให้ชุมชนสามารถมีบทบาทเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของตนเองได้ เมื่อปี 2552

พอดิบพอดีกับดำริจากกระทรวงพาณิชย์ที่สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละแห่งทำการลงพื้นที่ดูความ เป็นไปได้ถึงการดึง “อัตลักษณ์ทางการค้า” ของแต่ละจังหวัดออกมาเป็นแรงขับเคลื่อน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด จันทบุรีได้เลือกเอา “ชุมชนเก่าแก่ริมน้ำจันทบูร” ขึ้นมาเพื่อพัฒนาย่านเก่านี้ให้เป็น “พื้นที่สัญลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม” แห่งใหม่

“ถึงจะเป็นย่านการค้ามาก่อน แต่เรามองว่า ย่านการค้าตรงนี้ทำยังไงก็ฟื้นไม่ขึ้น แต่มรดกวัฒนธรรม ที่เหลืออยู่นี่แหละมันทำขึ้นกว่า เราก็เลยกำหนดให้เราเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” คำบอกเล่าจากประภาพรรณ ฉัตรมาลัย ประธานชมรมพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูร ที่เล่าถึงการรวมตัวของชาวบ้าน

เมื่อจัดตั้งชมรมฯ การทำงานก็เริ่มต้นขึ้นอย่างง่ายๆ และไม่ต้องเสียเงินด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือน หน้าร้าน จากนั้นก็ขยับออกมาช่วยกันปลูกต้นไม้ ดูแลพื้นที่สาธารณะ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็ถึงคราวมานั่งคุยกันอย่างจริงจัง ถึงแนวทางที่ชุมชนจะเดินต่อไป และแนวคิด “วัฒนธรรมนำการค้า” ก็ได้ย้อนกลับมาประสานกันได้อย่างดีกับโครงการจัดตั้ง “กิจการสังคมเพื่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูย่านประวิติศาสตร์” ซึ่งอยู่ในฝันของ ธิป ศรีสกุลไชยรัก และทีมงานสถาปนิกชุมชนจากสถาบันอาศรมศิลป์ ที่มองหาชุมชนที่เหมาะสม กับโมเดลนี้

“ไอเดียนี้เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว เพราะนักศึกษาเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนมาก และโครงการลักษณะนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ที่ดี เราจึงเริ่มต้นที่นี่เป็นโมเดลนำร่อง เพราะมีคนที่พร้อมเดินไปกับเรา มีคนที่พร้อมจะ เป็นเจ้าของเรื่อง เขาเข้าใจว่า อาศรมศิลป์จะมาทำเพราะอะไร มีเป้าหมายอย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก” อาจารย์ธิป หัวเรือสำคัญของโครงการกิจการสังคม ที่ต่อมาจดทะเบียนเป็น บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด เริ่มต้นเล่าถึงโครงการที่พร้อมจะเป็นรูปเป็นร่าง ในอีก 2 ปีข้างหน้า

พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

แม้ว่า ภารกิจหลักของอาศรมศิลป์ที่คนทั่วไปเข้าใจกันโดยส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องการฟื้นฟูย่านเก่า อาคารโบราณ ในลักษณะของการบูรณะซ่อมแซม แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาศรมศิลป์ยึดถือหลักการในการอนุรักษ์ว่า ไม่มีวิธีใด จะอนุรักษ์อาคารโบราณได้ดีไปกว่าการดูแลในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น การที่อาศรมศิลป์เข้ามาสร้างกระบวนการมีส่วนรวมในชุมชนจันทบูรในครั้งนี้ จึงมาในรูปของการ ให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวในรูปแบบที่พอเหมาะลงตัวกับวิถีชุมชน ซึ่งถือว่าไปกันได้กับข้อตกลงของชาวบ้าน ที่มีอยู่แล้วที่ลงความเห็นกันว่าจะไม่เปิดรับธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างเต็มเหนี่ยว

การเข้ามาของอาศรมศิลป์ จึงมาพร้อมกับโมเดลต้นแบบจากต่างประเทศ ตั้งแต่กลุ่มพัฒนาชุมชนคอยน์สตรีท ในเขตลอนดอนเซาธ์แบงค์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งกิจการสังคม และสินเชื่อเพื่อการพัฒนา เปลี่ยนชุมชน เสื่อมโทรมที่ถูกทิ้งร้างให้ฟื้นกลับมาเป็นย่านที่อยู่อาศัย และพักผ่อนที่เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยการเติมเต็มที่อยู่อาศัย ร้านค้า แกลเลอรี่ ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ทางเดินริมน้ำ ศูนย์กีฬา และการจัดงานเทศกาลต่างๆ รวมถึงการตั้ง ศูนย์ดูแลเด็ก และครอบครัว ศูนย์การเรียนรู้

จนถึงโครงการ ไทโอ เฮอริเทจ บนเกาะฮ่องกง ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของหมู่บ้าน ผ่านสถานีตำรวจเก่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 มาปรับปรุงเป็นโรงแรม ภายใต้แนวคิดโครงการฟื้นฟูเพื่อก่อให้เกิดการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนและการท่องเที่ยว โรงแรมมีการแนะนำการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และตระหนักถึงคุณค่าของอาคารประวัติศาสตร์และระบบนิเวศโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแก่ผู้เข้าพัก และผู้มาเยี่ยมชม

มาสู่คาวาโกเอะ ในจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของฉายา “ลิตเติ้ลเอโดะ” เนื่องจากสภาพบ้านเรือน และบรรยากาศภายในเมืองยังคงสภาพความรุ่งเรืองสมัยเอโดะไว้ได้อย่างลงตัว โดยชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานราชการ ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมา จนทำให้ชุมชนได้รับรางวัลมากมาย ชื่อเสียงของเมืองคาวาโกเอะจึงโด่งดังไปทั่วโลก

ทั้งสามเมืองต้นแบบนั้น ในมุมมองของอาจารย์ธิป เหล่านี้คือการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของเมืองท่องเที่ยวที่ ไม่โอนอ่อนต่อเงินตราโดยชาวเมืองสามารถรักษาความเป็นตัวตนของเมืองไว้ได้ควบคู่กับการเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างพอดี

“อย่างที่คาวาโกเอะถือว่าเขาอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรีมากเลยนะ 5 โมงเย็นปุ๊บปิดร้านเลย เมืองจะเงียบมาก ถึงเวลาชีวิตส่วนตัวของพวกเขาแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ถึงกับเย่อหยิ่ง เชิดใส่นักท่องเที่ยวนะ เพียงแต่เขาไม่เสียความ เป็นตัวเอง ซึ่งการเป็นเช่นนั้นถือว่าดีมากๆ เขาจะอยู่ได้อีกนาน เพราะไม่ได้เป็นทาสของนักท่องเที่ยว” เขาบอก

ก่อน อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ชาวชุมชนจันทบูร และเป็นหนึ่งในโต้โผหลักของโครงการนี้ สำทับอย่างมั่นใจว่า “ถ้าเริ่มต้นด้วยความมั่นใจว่าเรา “มีดี” ก็ไม่ต้องกลัวกระแสการท่องเที่ยวที่ไหน เพราะเราไม่ได้ขายตัว”

ร่วมบุญ ร่วมทุน

เมื่อเป้าหมายตรงกัน การก่อตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกัน อนุรักษ์วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม และเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงด้วยการที่ชุมชนเป็นผู้ประกอบการ ด้วยตัวเอง โดยได้รับการอนุเคราะห์จากเจ้าของบ้านโบราณ 2 หลังให้สัญญาเช่าแบบเหมือนได้เปล่า ในราคาเดือนละ 1 บาท

เพื่อให้ชุมชนได้นำไปดำเนินการภายใต้แนวคิดธุรกิจสังคมเพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และชุมชน โดยเริ่มต้นที่การระดมทุมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง และดำเนินการให้บ้านขุนอนุสรณ์สมบัติ เป็นแหล่งเรียนรู้ ชุมชนริมน้ำจันทบูร ส่วนบ้านหลวงราชไมตรีก็จะนำมาปรับปรุงเป็นโรงแรม ในรูปแบบของบ้านพักพิพิธภัณฑ์

“เราตั้งงบประมาณสำหรับการดำเนินการตั้งแต่การปรับปรุงอาคาร จนถึงนำไปดำเนินกิจการต่อสำหรับ บ้านทั้งสองหลังไว้ที่ 8.8 ล้านบาท ซึ่งเราจะเปิดให้ชาวชุมชน ชาวจังหวัดจันทบุรี จนถึงคนที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน มาซื้อหุ้นได้ตามลำดับ ในราคาหุ้นละ 1,000 บาท”

สำหรับชาวชุมชนนั้น ทีมงานเข้าใจดีว่าอาจจะทุนไม่เยอะ แต่ในเงื่อนไขของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ จะต้องมีผู้แทนจากชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารด้วย ฉะนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า จันทบูรรักษ์ดี น่าจะดำเนินไปได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่แม้จะตั้งเป้าไว้ไม่สูง แต่พอถึงวันแสดงเจตจำนงร่วมทุน ยอดคนสนใจ กลับเป็นไปได้สวย แม้ต่อรายจะไม่ได้ซื้อหนัก แต่การเดินเข้ามาบอกว่าจะร่วมซื้อหุ้นด้วยนั้น ก็เป็นกำลังใจให้ทีมงาน ได้อีกกองใหญ่ ว่ามีชาวชุมชนเห็นด้วยกับไอเดียนี้ “เราดีใจมากที่มีคนเข้าหุ้นโดยไม่หวังเรื่องเงิน เพราะธุรกิจแบบนี้มันไม่ขาดทุนก็จริง แต่มันก็ไม่ได้กำไรมาก ถ้าเราได้หุ้นน้อยต่อยหนักมา มันจะทำให้โครงการแบบนี้เดินได้ยาก ดังนั้นความเข้าใจลักษณะว่า “ร่วมบุญ” กันอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจกันนี่ ถือว่าโอเคเลยสำหรับเรา แต่มีอยู่คนหนึ่งพวกทีมงานยังไม่ทันได้อธิบายอะไรเลย เขาเดินเข้ามาบอกว่า อ่านเอกสารเข้าใจหมดแล้วลงชื่อขอซื้อเลย 100 หุ้น หนึ่งแสนบาท ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเขาเข้าใจแล้วว่า นี่คือการลงทุนเพื่อชุมชน”

ตามที่ อาจารย์ธิป เอ่ยไว้ว่า การเกิดขึ้นของจันทรบูรรักษ์ดีนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดเป็นกิจการใหญ่โตได้ โดยจัดสรรผลกำไรเป็น 2 ส่วนคือ เป็นเงินปันผลสู่ผู้ถือหุ้น และสมทบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชน แต่ความหวังที่เขา และทีมงานในชุมชนต้องการเห็นก็คือ บทพิสูจน์ถึงการอนุรักษ์ที่ควบคู่ไปกันได้กับปากท้อง ที่วันหนึ่งข้างหน้าชาวชุมชน ที่เหลือจะเริ่มมองเห็นว่า เขาไม่จำเป็นต้องขายบ้านให้นายทุนมารื้อออกแล้วสร้างโรงแรมใหญ่โต เขาก็สามารถเป็น เจ้าของธุรกิจเล็กๆ ในบ้านที่อยู่มาชั่วนาตาปีได้อย่างสบายๆ

แต่ทั้งหมดนั้นต้องย้อนกลับมาที่การตระหนักรู้ถึงการ “มีดี” ตามที่อุกฤษฏ์บอกไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งชุมชนไม่จำเป็น ต้องวิ่งโร่ตามกระแสท่องเที่ยวอย่างที่เกิดขึ้นกับที่อื่นๆ

อุกฤษฏ์ยกตัวอย่างง่ายๆ โดยฝากบอกไปยังนักท่องเที่ยวที่คิดจะแพ็กกระเป๋า แบกเป้มายังจันทบูรว่า ถ้าคิดจะมาเที่ยวชิลๆ ช็อปของที่ระลึก หรือเสื้อยืดเก๋ๆแล้วนั้น อาจต้องผิดหวังก็ได้ เพราะถึงแม้จะมีขายให้ติดไม้ติดมือ กลับไปอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีเยอะถึงขนาดเปิดติดๆกันเป็นสิบร้านอย่างเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ

“การเปิดตลาดท่องเที่ยวมันไม่ยาก ใครๆก็ทำได้ แต่พวกเราไม่เห็นด้วยกับการฉกฉวยรากเหง้าทางวัฒนธรรม มาทำธุรกิจเก๋ๆ ประเภทร้านเหล้า ชวนกันมาเมาในที่เก๋ แบบนี้เราขอไม่ต้อนรับ ถ้าจะมาทำตัวทุเรศทุรังแบบนั้น เราคงต้องขอเชิญกลับไป” อุกฤษฏ์เอ่ย

Comments are closed.